กลับมากันอีกครั้งในคอลัมน์ #MechBasic รวมเรื่องพื้นฐานสำหรับคนรัก Mechanical Keyboard ไม่งั้นเดี๋ยวคุณจะคุยกับเขา ไม่ รู้ เรื่อง
(เอาไปคุยกับใครวะ?)
อ่า เข้าเรื่องครับ หลังจากที่เราเสนอไปก่อนหน้านี้ (ใครยังไม่อ่านคลิก จิ้มเลยครับ ให้ไว)แล้วในเรื่องของวัสดุของ Keycaps ซึ่งหลักๆ ก็คือ ABS กับ PBT แต่เชื่อว่าหลายคนเวลาลองถามๆ ร้านขาย Mechanical Keyboard จะได้คุ้นอีกคำนึงด้วยคือ “ตัวนี้ Double Shot คีย์ไฟลอดเลยนะเพ่”
หลายคนฟังแล้วก็จะงงๆ “แล้วไงวะ มันคือไรวะ” ซึ่งไม่แปลกครับ ตอนผมเจอแรกๆ ผมก็งง ฉะนั้นร้านทั้งหลายถ้าอ่านเจอบทความนี้ก็เอาไปประกอบแนะนำให้อธิบายลูกค้าด้วยนิดนึงนะ
Double Shot ไม่ได้เป็นประเภทของพลาสติกแต่อย่างใด แล้วก็ไม่ใช่การยกสองช็อตรวดแล้วเมาหัวทิ่มเช่นกัน แต่เป็นพูดถึงวิธีการพิมพ์อักษรของ Keycaps นั่นเองครับ
การพิมพ์ตัวอักษรบน Keycaps นั้นจะมีวิธีที่นิยมๆ กันดังนี้ครับ ท้ายบทความจะมีเปรียบเทียบมาให้ดูกันนะ
1) Pad Print
เป็นวิธีที่นิยมที่สุดในคีย์บอร์ดสำนักงานทั่วไป พวก คีย์บอร์ด Rubber Dome ทำงานจะใช้กันเยอะ ลักษณะสังเกตง่ายๆ คือเหมือนเป็นการปริ้นแปะตัวอักษรลงไป บางแบบจะมีคราบใสๆ ล้อมรอบตัวอักษรอีกทีนึงเป็นการเคลือบกันลอก
ลักษณะผิวสัมผัสจะเหมือนเราลูบผ่านแผ่นที่มีการปั๊มสีขึ้นมา เป็นวิธีการผลิตที่ง่ายและถูกที่สุด และแน่นอนว่าคงทนน้อยที่สุดเช่นกัน
ใช้งานไปสักพักตัวหนังสือก็จะล่องหนได้ครับ ลอกหายไปเหลือแต่ปุ่มว่างๆ เชื่อเถอะว่าเคยเจอกันหมด โดยเฉพาะขาเกมที่ WASD แม่งหายไปก่อนเพื่อน แน่นอน

2) Laser Etch หรือ Laser Engraving
เป็นการใช้เลเซอร์แกะสลักลงไปบนเนื้อพลาสติกโดยตรง โดยจะมีกรรมวิธีย่อยๆ อยู่หลายแบบ ขออนุญาตอธิบายถึงสั้นๆ ไม่อยากลงรายละเอียดมาก

- Charring: คือยิงบนเนื้อพลาสติกจนไหม้ จะเกิดเป็นรอยดำๆ บนแคปสีขาว หรือสีอ่อน
- Foaming: คือยิงบนเนื้อพลาสติกสีเข้มที่มีการผสมสารที่โดนความร้อนแล้วสีขาวจะฟูขึ้นมาแทน
- Coloring: ยิงเลเซอร์แบบมีสีผสมลงไปด้วย โดยเลเซอร์จะไปปาดเนื้อพลาสติกออกแล้วยิงสีทับลงไปในรอยขูดตรงนั้น
- Engraving (Ablation): หรือยิงเลเซอร์แกะรอย จะใช้ในประเภทคีย์บอร์ด Notebook เยอะ โดยตัวแคปเป็นพลาสติกขาวเคลือบดำ ก็จะเป็นการยิงปาดเคลือบดำออก แล้วเห็นเนื้อพลาสติกขาวด้านใน
โดยวิธียิงเลเซอร์จะนิยมขึ้นมาหน่อยสำหรับของที่มีราคาแพงขึ้นอีกนิดนึง เช่นพวก Apple Keyboard โดยวิธีสังเกตคือลูบๆดูแล้วจะไม่เหมือนมีสีปั๊มนูนขึ้นมาครับ หรืออย่างแคป ABS สีดำไฟลอดหลายตัวจะใช้วิธี Engraving ครับ สังเกตง่ายๆคือพลิกขึ้นมาแล้วด้านล่างเป็นพลาสติกสีขาวแล้วพ่นสีเคลือบดำล้อมไว้แทน
3) Dye Sublimation (Dye-Sub)
เป็นวิธีการพิมพ์ตัวอักษรโดนให้ตัวหมึกซึมเข้าไปในเนื้อพลาสติกของ Keycap เลย วิธีการนี้จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่าสองแบบแรก แล้วสามารถทำได้แค่กรณีแคปสีอ่อน พิมพ์ด้วยหมึกสีเข้มเท่านั้นครับ
ข้อเสียอีกอย่างของวิธีนี้คือตัวอักษรจะไม่ค่อยคมกริบ โดยเฉพาะกับตัวเล็กๆบางๆ เพราะเหมือนเป็นหมึกซึมเข้าไปนั่นเองครับ

4) Double-shot (Double-Injection)
เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาหลังๆ ในหมู่ Mechanical Keyboard สายเกมมิ่งทั้งหลายครับ เนื่องจากต้องการทำคีย์แคปที่มีไฟลอดได้นั่นเอง และให้ความคงทนที่สูงพอสมควรด้วยครับ
วิธีการก็คือทำพลาสติกสองชั้น ชั้นนึงเป็น กรอบด้านนอก อีกชั้นคือพลาสติกคนละสีด้านใน (หรือเป็นพลาสติกโปร่งแสงเพื่อให้ให้ไฟลอด) จากนั้นขึ้น Mold แล้วปั๊มฉีดออกมาครับ

โดยเป็นวิธีการผลิตที่แพงที่สุด และตัวอักษรจะคงทนมาก (เพราะไม่ได้เป็นการสกรีนหรือแกะอะไร เป็นเนื้อพลาสติกอีกอันเลย) และต้องขึ้น Mold ต่อแคปหนึ่งอัน ซึ่งหลายตังค์มากครับ เคยมีคนจะรวมตัวกันผลิต Mold เพื่อทำ Keycaps ดีไซน์เฉพาะขึ้นมาแล้วก็ถึงกับถอยกันเพราะราคาเอาเรื่อง คือเหมือนต้องขึ้น Mold พลาสติกฉีดแบบสองชั้นหลักร้อยเลยทีเดียว
นี่คือสาเหตุว่าทำไม Keycap Set บางชุดถึงมีราคาแพงเพราะใช้พลาสติกเกรดดีพร้อมกับต้องคิดว่า Mold ด้วยนั่นเอง
แต่หลังๆ Mechanical Keyboard จากจีนจะนิยมใช้กันโดยจะมีดีไซน์หน้าตาคล้ายๆ กันหมด เพราะตัวแคปเนี่ยผลิตออกมาจากที่เดียวกันครับ สังเกตดูแบรนด์ราคาไม่แรงมากจะมีฟอนท์แบบนึงที่เราเห็นใน OKER, Nubwo, Neolution ทั้งหลาย เป็นแบบฟอนต์เกมมิ่ง เพราะตลาดบ้านเค้าต้องการแบบนั้นเองครับ (ขนาดจีนยังต้องแบ่งกันใช้เลยเพราะว่าค่า Mold ผลิตขึ้นเองไม่คุ้มทำจริงๆ ครับ)

แล้วจะรู้ได้ไงว่าอันไหนเป็นแบบไหน?
จริงๆ ดูรูปด้านบนก็พอจะเห็นภาพแล้วเนอะ แต่ไม่เป็นไร เราเต็มที่เพื่อคนอ่านก็เลยไปจัดการคุ้ยๆ แกะมาวางเทียบกันให้

เทียบ Keycaps จากซ้ายไปขวานะครับ
- ABS Pad Print – FILCO MINILA Air Keycaps
- PBT Laser Etch (Coloring) – POK3R PBT Keycaps
- ABS Laser Engraving – Blackwidow Keycaps
- ABS Double Shot – OKER K84 (OEM MOTOSPEED CK104)
แคปไฟไม่ลอดเบอร์ 1 กับ 2 วิธีสังเกตระหว่างสองวิธีจะยากหน่อย แต่ส่วนใหญ่แล้ว Pad Print จะเหมือนเป็นสีปั๊มนูนขึ้นมา ลูบแล้วจะสากๆ สูงๆ หน่อย ส่วน Laser Etch อันที่สอง เวลาลูบจะรู้สึกราบเรียบกว่าครับ แต่ก็ยังนูนๆ นิดนึง
ส่วนไฟลอดจะเป็นเบอร์ 3 กับ 4 จุดที่แตกต่างกันก็จะเห็นในภาพเนอะ เบอร์ 3 เป็นแคปสีขาวเคลือบดำ แล้วยิงเลเซอร์สกัดสีดำออกเป็นตัวอักษรสีขาว ไฟก็จะลอด แต่แบบ 4 จะเป็นแคปกรอบดำแล้วปั๊มใส้ในสีขาวเป็นตัวอักษรออกมา
ความคงทนก็จะไล่จากต่ำสุดซ้ายไปขวาสุดเลย Double shot จะคงทนสุด เพราะเป็นเนื้อพลาสติกอีกชิ้นเลยครับ
ผมไม่เอาวิธีแบบ Dye-Sub มาเทียบนะ มันสังเกตง่าย เหมือนหมึกซึมๆ ลงไปลูบๆแล้วหน้าตัดไม่มีนูนหรือสากอะไรเลย นั่นแหละครับ Dye-Sub
แถมอีกวิธี UV Printing
เป็นวิธีที่เราจะเห็นไม่ค่อยเยอะ แต่จะนิยมในกรณีสั่งทำปริ๊นท์คัสต้อม ลงไปครับ โดยจะนิยมในเวปที่รับทำคัสต้อมคีย์แคป เช่น WASD เป็นต้นครับ ข้อดีคือปริ๊นท์ได้หลากหลาย แต่ภาพจะไม่คมชัดแล้วสีก็ไม่ได้คมมากครับ แต่นิยมทำในกรณีต้องการทำรูปแปลกๆ จำนวนไม่เยอะบน Keycaps ครับ

อันนี้ก็เป็นวิธีหลักๆ ที่เราจะเห็นกันในการทำ Keycaps ครับ มันยังมีวิธียิบย่อยอีกนิดหน่อย หรือประเภทที่ไม่ค่อยนิยมกัน ขออนุญาตไม่พูดถึงละกันไม่งั้น ผมจะกลายเป็นเซลส์โรงงานพลาสติกละ
หากอ่านแล้วรู้สึกว่าเออดีมีความรู้ อยากให้ช่วยกันแชร์เป็นกำลังใจกันสักนิด หรืออยากสนใจพูดคุยกันเชิญได้ที่ Facebook KBGangster ของเราได้เลย แน่นอนว่าจะมีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับ Mechanical Keyboard มาให้อ่านกันอีกแน่นอน
อ่านตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
Pingback: #MechBasic รู้จักกับคีย์แคป (Keycap) ตอนสาม: ขนาด แถวและ Profile ของ Keycaps – KBGANGSTER
Pingback: #MechBasic รู้จักกับคีย์แคป (Keycap) ตอนแรก: วัสดุของ Keycap – KBGANGSTER
Pingback: ทำไม Keycaps Double-shot ถึงไม่มีภาษาไทย? – KBGANGSTER
ขอบคุณคุณน้องสำหรับทความดีๆอย่างนี้ครับ
ปล. ต่อไปนี้ลูกค้าถามเกี่ยวกับแคป ผมไม่ต้องเหนื่อยพิมพ์อธิบายแล้ว เอาลิงค์บทความนี้ให้แทน ขอบคุณหลายๆครับ
ถูกใจถูกใจ
55555 ถ้าได้เป็นประโยชน์ก็ดีใจครับ 🙂
ถูกใจถูกใจ