ช่วงนี้เหมือนเมืองไทยกำลังตื่นตัวกับสวิตช์แบบใหม่จากการเปิดตัวของ Zowie Celeritas II ในเมืองไทยที่เคลมว่าใช้ “Optical Switch” แตกต่างจากสวิตช์ปกติ
แล้ว Optical Switch เนี่ยมันแตกต่างกับสวิตช์แบบ MX ที่เราใช้กันยังไงหว่า? เพราะหน้าตาก็คล้ายๆกัน แต่พอเหมือนเป็นของใหม่ เท่าที่เห็นก็เหมือนมีคนจะเข้าใจผิดเยอะอยู่ เลยเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนกระจ่างกันเนอะ
Optical Switch หมายถึงสวิตช์ที่ทำงานด้วยแสงหรือมองเห็น (อธิบายยากนิดนึง) ซึ่งแตกต่างสวิตช์ปกติที่ใช้การทองแดงกระทบกัน หรือที่เราเรียกว่า Contact นั่นเอง

หมายถึงยังไง? หมายถึงว่าเจ้าปุ่มนี้จะทำงานเมื่อเงื่อนไขเกี่ยวกับแสงหรือเลนส์ โดนบังหรือการสะท้อนเปลี่ยนแปลงครับ นึกสภาพเหมือนมีอะไรกั้นแสงอยู่ แล้วพอเราขยับให้แสงวิ่งครบ Loop สวิตช์ก็จะทำงานอะไรแบบนั้น
Optical Switch ในปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองแบบใหญ่ๆ ก็คือ Light Strike Switch (LK Switch) กับ Flaretech (Adomax) ครับ แม้ว่าจะเป็น Optical Switch เหมือนกัน แต่ ลักษณะการทำงานไม่เหมือนกันซะทีเดียวครับ
ในส่วนของข้อดีของสวิตช์ Optical ผมขอสรุปไว้ท้ายบทความทีเดียวนะครับ
Light Strike Switch (LK Switch)
เป็น Optical Switch แบบแรกที่มาก่อน โดยเท่าที่เห็นมีสองแบรนด์ที่ใช้อยู่ตอนนี้คือ Bloody กับ Tesoro บางรุ่นครับ
ลักษณะการทำงานของสวิตช์ตัวนี้คือตัวบอร์ดในแต่ละปุ่มจะมีการยิงแสง Infrared ใต้สวิตช์จากด้านนึงไปอีกด้านนึง โดยมีสวิตช์กั้นแสงไว้

พอเรากดปุ่มปุ๊ป สวิตช์เราก็จะเลื่อนลง แสงก็จะวิ่งจากฝั่งนึงไปอีกฝั่งครบวงจรแล้วก็จะป้อนคำสั่งไปว่าเราพิมพ์ตัวนี้นะ เป็นอันจบกระบวนการ
สวิตช์แบบนี้จะมีโครงสร้างของตัวสวิตช์แตกต่างจากชาวบ้านนิดหน่อย เพราะว่าต้องมีการดีไซน์ก้านพลาสติกยาวๆ ที่เอาไว้บังแสงด้านล่างนั่นเอง โดยจะเป็นเหมือนกระบอกยาวๆสูงๆ แล้วฝังลงไปใน PCB เพื่อกันแสง Infrared ที่ยิงด้านใต้นั่นแหละ

ตัวผมเองก็ยังไม่เคยใช้จริงจัง เลยไม่แน่ใจว่าคงทนกว่าจริงไหม แต่ในแง่ทางหลักการแล้วมันก็จะคงทนกว่าครับ โดยผู้ผลิตคีย์บอร์ดที่ใช้สวิตช์แบบนี้จริงจังก็คือแบรนด์ Bloody ที่หาได้ในจีนและอเมริกาเป็นหลักนั่นแหละ
ในเมืองไทยยังไม่เห็นใครใช้นะครับ
Flaretech (Adomax)
อันนี้แหละครับเป็นสวิตช์ที่ใช้ใน Zowie Celeritas II ที่เปิดตัวไปในไทย แม้ว่าจะเป็น Optical Switch เหมือนกันแต่หลักการทำงานต่างกันกับแบบ LK Switch ครับ
Flaretech Switch ได้มีการใช้ตัวแรกในคีย์บอร์ดชื่อว่า Wooting ที่สำเร็จไปในบน Kickstarter ครับ กระแสตอบรับค่อนข้างดีเลยทีเดียวกับคอนเซปต์ แต่ตัวขายจริงต้องมาดูกัน

แบบ LK Switch ใช้การยิง Infrared ด้านใต้สวิตช์แนวขวาง แต่ของ Flaretech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เป็นการยิง Infrared จากด้านล่างขึ้นมาหา Switch แนวตั้งตรงๆ เลยครับ
การยิง Infrared แนวตั้งตรงๆขึ้นมา ต่างกับแบบ LK Switch ยังไง? อันนี้เค้าใช้หลักการแสงสะท้อนที่ยิงขึ้นแล้วสะท้อนลงมา
ความเจ๋งของมันคือ มันเป็นสวิตช์แบบ Analog ครับ สามารถวัดระยะการกดของเราได้! ซึ่งเป็นอะไรที่ Mechanical Keyboard ไม่เคยทำได้มาก่อน เพราะก่อนหน้ามันมีการส่งคำสั่งได้แค่ “กดแล้ว” กับ “ไม่ได้กด” เหมือน 1 กับ 0 เท่านั้น

แต่อันนี้พอมีการวัดระยะการกด สมมติเรากดลงไปครึ่งนึง มันก็สามารถอ่านค่า 0.5 ได้ครับ ถามว่าเหมาะกับอะไร? ลองนึกสภาพการทำงานส่งคำสั่งที่ใช้แรงกด เช่นประเภทปรับความเข้มสีของภาพ หรือ เล่นเกมประเภทขับรถที่สามารถกดคันเร่งน้ำหนักต่างกันได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวคอมพิวเตอร์และ Software เราต้องรองรับพร้อมกับ Driver จากทางผู้ผลิตเช่นกัน ไม่งั้นมันก็ส่งคำสั่งได้แค่ 1 หรือ 0 ปกติครับ แต่ต่อให้มันวัดระยะไม่ได้ ข้อดีอีกอย่างคือมันสามารถตั้งค่าได้ว่า ให้เรากดลงไปลึกเท่าไรถึงจะถึงระดับที่ส่งคำสั่งเข้าไป ตั้งได้ตั้งแต่ 1.6mm – 3.6mm เลย ตื้นลึกแล้วแต่คนชอบก็เรียกได้ว่าเจ๋งดี
ข้อดีที่ดีกว่าแบบ LK switch อีกอย่างนึงคือการที่กลไกทั้งหมดมันอยู่บนแผง PCB ดังนั้นตัวสวิตช์ด้านบนเป็นแค่พลาสติกกดธรรมดา ไม่ได้มีอะไรอลังการมาก ทำให้เปลี่ยนได้ง่าย (แต่ก็ต้องใช้อันที่เค้าออกแบบมาโดยเฉพาะนะ ไม่ใช่เอาสวิตช์อะไรมาใส่ก็ได้)
ข้อดีของ Optical Switch
ข้อดีของ Optical Switch คือมีการส่งคำสั่งและตอบสนองที่เร็วกว่า เพราะไม่ได้ผ่านระบบ Contact ทองแดงเป็น Infrared รับแสง ผู้ผลิตจึงเคลมว่าตอบสนองดีกว่าครับ ซึ่งหลายที่ก็มีการทดสอบให้ดูแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
แต่มันก็ระดับเสี้ยววิอ่ะนะ ถ้าใช้งานทั่วไปอาจจะไม่รู้สึก แต่ถ้าเล่นเกมที่ต้องการตอบสนองเร็วมากๆ อาจจะได้ผลก็ได้
ข้อนึงที่สำคัญคือความคงทนเนื่องจากว่าไม่มีการเสียดสีกระทบของแผ่นทองแดงที่อาจจะเสื่อมตามการใช้งาน เพราะอันนี้ใช้การเคลื่อนตัวของพลาสติกเอา ดังนั้นตามหลักการมันก็จะมีความคงทนมากกว่าสึกหรอยากนั่นเอง
การที่มันไม่ได้มีแผ่นทองแดงกระทบกัน ทำให้อาการเบิ้ลหรือหลอนนั้นยากกว่าด้วย เพราะอาจจะไม่ได้เกิดจากการบิดรูปของแผ่นทองแดงทำให้เกิดอาการลั่นขึ้นมาได้เองนั่นแหละ
สุดท้ายคือการที่ผู้ผลิตสวิตช์ยังใช้ Mount แบบ MX ทำให้เราสามารถใช้ Keycaps แบบที่ใส่ปกติมาเปลี่ยนใส่ได้เลย ซึ่งเป็นข้อดีอีกอันครับ
ใครสนใจอยากดูข้อมูลอีกมุมอย่างชัดเจน ผมแปะคลิปนี้ไว้ให้ลองดูกันนะครับ (ภาษาอังกฤษนะครับผม)
ก็จบกันไปเกี่ยวข้องกันกับ Optical Switch ที่ผมตัดสินใจเขียนขึ้นมาเพราะว่าเป็นของใหม่ในบ้านเรา และมีการกระจายข้อมูลแบบผิดๆถูกๆ กันเต็มไปหมด เลยคิดว่ารีบเขียนขึ้นมาให้กระจ่างดีกว่า เดี๋ยวจะสับสนกันไปหมด
ยังไงถ้ามีข้อมูลอะไรอยากสอบถามหรือแลกเปลี่ยนกัน อย่าลืมพูดคุยกันได้ที่ Facebook นักเลงคีย์บอร์ด ของเรากันนะครับ
Pingback: #MechBasic รู้จักกันกับ Topre สวิตช์สุดฟินราคาสุดแรง – KBGANGSTER
Pingback: Razer กำลังพัฒนา Optical Switch ของตัวเองอยู่? – KBGANGSTER