เคยสงสัยกันไหมหว่าคีย์บอร์ดหน้าตาแบบนี้มันมีที่มาจากไหน แล้วมันมีหลายแบบเรียกกันอย่างไรบ้าง ทั้ง 61 Keys, Tenkeyless, 104-ANSI, 105-ISO เยอะแยะไปหมด
Layout คีย์บอร์ดปัจจุบันมาได้อย่างไร?
คีย์บอร์ดในยุคแรกหน้าตาก็จะเป็นเหมือนแป้นพิมพ์ดีดปกติ คือมีแค่ตัวอักษร และตัวคำสั่งที่เหมือนพิมพ์ดีด เช่น Spacebar หรือ Shift (เอาไว้ยกแคร่) ยังไม่ได้มีปุ่มคำสั่งประเภท Ctrl Alt Cmd หรืออื่นๆ
การเรียงปุ่มเสริมก็จะสะเปะสะปะ (เว้นแต่ตัวอักษร QWERTY) แล้วแต่จะเซ็ทมายังไง แตกต่างกันไป

จากนั้นปี 1981 IBM ได้ให้กำเนิดคีย์บอร์ดสุดจ๊าบมาในนาม Model F ซึ่งแต่ละรุ่นเนี่ย หน้าตา Layout ประหลาดกว่าปัจจุบันมาก ใส่ปุ่ม เสริมอะไรมาเต็มไปหมดเลย


จากนั้น IBM ก็คลอดตัวลือชื่อนาม Model M ออกมาในปี 1984 และกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานมาในตัวคอมพิวเตอร์ IBM ในปี 1986 ต่อมาครับ จะเห็นได้ว่ารูปแบบมันเหมือนปัจจุบันละ และรูปแบบก็เรียกได้ว่าคงแบบนี้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

รูปแบบของเจ้าตัว Model M ก็กลายมาเป็นมาตรฐาน Layout คีย์บอร์ดมาตรฐานอเมริกา (ANSI) ปัจจุบันนั่นเอง
ANSI vs ISO?
มาตรฐานคีย์บอร์ดบนโลกนี้แบ่งหลักๆออกเป็น ANSI และ ISO (มี JIS อีกอันที่จะเจอในญี่ปุ่นซึ่งอันนี้แปลกไปเลย)
โดยวิธีแยกง่ายๆคือ ANSI ปุ่ม Enter (Return) จะเป็นแถวเดียวจะเจอเป็นหลักคือในอเมริกา ในขณะที่แบบ ISO ปุ่มจะเป็นแบบตัว L จะเจอในแบบ UK ครับ
สังเกตดีๆนะครับว่า ISO จะมีปุ่มเยอะกว่า ANSI อยู่ 1 ปุ่ม

โดยมาตรฐานแป้นพิมพ์ มาตรฐานไทย มอก.820-2538 (TIS 820-1995) จะหยิบ ANSI Layout มาใช้ครับ

60% (Compact) vs 80% (TKL) vs 100% (Full Size)

นอกจาก Layout ที่ต่างกันในแต่ละประเทศแล้ว Layout จะมีไซส์ที่ต่างกันในขนาด Keyboard แต่ละแบบด้วยครับ
Keyboard แบบมี Numpad เต็มที่เราเห็นเป็นปกติทั่วไปเราเรียกว่า Full Size หรือ 100% ครับ ถ้าเป็นแบบ ANSI เราจะเรียกว่า 104 Keys เนื่องจากมี 104 ปุ่ม และสำหรับ ISO จะเรียก 105 Keys เพราะมี 105 ปุ่มครับ

Keyboard แบบที่ตัดปุ่ม Numpad ออก จะเรียกว่า Tenkeyless (TKL) หรือ 80% ครับ ส่วนตัวเป็น Keyboard ที่ผมชอบสุด เพราะว่าขนาดกะทัดรัด และยังมีปุ่มทิศทางและ Function ให้ใช้งานอยู่
ถ้าเป็น ANSI จะเรียก 87-Keys ISO ก็จะเรียก 88-Keys นั่นเอง

และสุดท้ายคือแบบ 60% หรือแบบ Compact ที่มีแค่แป้นพิมพ์กับปุ่ม Modifiers (Shift, Ctrl, Alt, etc.) เท่านั้นเอง โดยตัดปุ่ม Function (F1-F12) และปุ่มทิศทางทิ้งทั้งหมด แบบนี้จะเรียกว่า 61 Keys กับ 62 Keys นั่นเอง

มีแบบอื่นอีกไหม?
แม้ว่า Layout หลักๆจะมี 3 แบบ แต่ก็มี Layout แบบอื่นอีกด้วย แต่อาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่า และมักจะมีชื่อเรียกที่ไม่ค่อยมีมาตรฐานเท่าไร บ้างก็เรียกตามจำนวนปุ่มบ้าง บ้างก็เรียกเป็น % บ้าง



ยังมีอะไรควรรู้อีกไหมเรื่อง Layout
แม้ว่าจะมีรูปแบบ ANSI หรือ ISO แล้วเราอยากจะซื้อชุด Keycaps มาเปลี่ยน ก็ต้องระวังอีกจุดนึงที่สำคัญเหมือนกันครับ
อย่าลืมเช็คด้วยว่าที่จะซื้อมาสามารถเปลี่ยนใส่ได้พอดีไหมด้วย แม้ว่าจะเป็น Keyboard ANSI เหมือนกัน แต่ส่วนของปุ่ม Modifiers แถวล่างสุดมักจะมีขนาดไม่เท่ากันเช่นกัน

สามารถเช็คกันได้ที่ http://www.maxkeyboard.com/mechanic… หรือถ้าไม่มีชื่อรุ่นในนี้ ให้ลองเทียบชาร์ทดูว่าแต่ละปุ่มเรามีขนาดเท่าไร จะได้ซื้อแคปมาเปลี่ยนแล้วใส่กันได้พอดีๆ
ก็จบกันไปสำหรับพื้นฐานการเรียก Mechanical Keyboard ในรูปแบบต่างๆ นะครับผม รับรองมีความรู้ดีๆ มาเรื่อยๆ แน่นอนครับ ถ้าชอบบทความอย่าลืมติดตามเวปไซต์ของเรา หรือพูดคุยกันได้ FB นักเลงคีย์บอร์ด KBGangster ได้เลยจ้า
Pingback: Review: TADA68 Keyboard ไซส์กะทัดรัด Layout ตอบโจทย์ – นักเลงคีย์บอร์ด
Pingback: #BuyingGuide เลือกซื้อ Mechanical Keyboard ควรพิจารณาอะไรบ้าง – KBGANGSTER